ถ้าเช่นนั้นเราลองมาดูกันหน่อยดีไหมครับ ว่าไข้หรือผื่นของแต่ละโรคมีข้อสังเกตอย่างไร จะได้พอเป็นแนวทางว่าโรคใดควรปฏิบัติตัวอย่างไร หรือโรคใดบ้างที่ควรรีบไปพบแพทย์
หากผื่นมีลักษณะเป็นตุ่มนูนใสกระจายทั่วตัว มีอาการคัน และขึ้นพร้อม ๆ กับวันที่เริ่มมีไข้ หรือหลังจากมีไข้หนึ่งวันและขึ้นไม่พร้อมกันทั้งตัว บริเวณที่ขึ้นใหม่เห็นเป็นผื่นแดงราบหรือตุ่มใส ขณะที่บางที่ซึ่งเป็นก่อนเริ่มกลัดหนองหรือตกสะเก็ดให้นึกถึง โรคอีสุกอีใส เห็นไหมครับ ชื่อโรคออกจะตรงตัว คือมีทั้งตุ่มสุกและตุ่มใสอยู่ที่ตัวคนป่วยในเวลาเดียวกัน
โดยทั่วไปเมื่อเป็นโรคอีสุกอีใส ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์นะครับ เพียงรับประทานยาลดไข้ ทาคาลาไมน์โลชั่นบริเวณที่เป็นผื่น และพยายามอย่าเกา เพราะจะทำให้ตุ่มติดเชื้อแบคทีเรียกลายเป็นหนอง พักผ่อนให้มาก ๆ และถ้ามีไข้สูงห้ามอาบน้ำเย็น แค่นี้ก็พอแล้วครับ เพราะโรคนี้หายได้เอง ยกเว้นถ้าเป็นรุนแรง มีอาการหอบ ชัก หรือซึมไม่รู้ตัว ให้รีบส่งโรงพยาบาลด่วน
ที่สำคัญโรคนี้เป็นโรคติดต่อครับ แค่ไอจาม หายใจรดกัน หรือสัมผัสกับตุ่มแผลก็มีโอกาสที่จะติดโรคได้ โดยเฉพาะในระยะหนึ่งวันก่อนผื่นขึ้น ไปจนถึง 6 วันหลังตุ่มใสขึ้น ฉะนั้นควรแยกผู้ป่วยและของใช้จำพวกผ้าของผู้ป่วยจากคนที่ยังไม่เคยเป็นโรคนี้ครับ ยกเว้นแต่ว่าอยากเป็น เพื่อให้มีภูมิต้านทานหรือต้องการประหยัดค่าวัคซีน
แต่โรคนี้ดีอยู่อย่างคับ คือเมื่อหายแล้วจะมีภูมิต้านทานไปตลอดชีวิต หรือถ้าเป็นสมัยนี้สามารถฉีดวัคซีนป้องกันไว้ได้ตั้งแต่อายุ 4-6 ขวบ
มีผื่นอีกโรคที่ต้องระวัง คือผื่นจาก โรคไข้เลือดออก ซึ่งจะคล้ายกับตุ่มยุงกัดทั่วตัว และใกล้เคียงกับผื่นจากโรคหัดแต่ก็พอจะแยกกันได้ครับ โดยสังเกตว่าถ้าเป็นไขเลือดออกจะไม่มีอาการไอหรือน้ำมูกไหล และจุดเลือดออกของโรคไข้เลือดออกจะไม่รู้สึกสากมือเหมือนโรคหัด และเวลากดดึงผิวหนังให้ตึงจะไม่จางหายไปเหมือนจุดถูกยุงกัดธรรมดา ซึ่งถ้ามีอาการตามนี้ร่วมกับมีไข้สูงตลอดเวลา ก็ควรดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานยาลดไข้ และรีบไปพบแพทย์ครับ
แต่ถ้าเป็น โรคหัด นอกจากจะมีน้ำมูกและไอแล้ว จะมีอาการหน้าแดง ตาแดง ไม่สู้แสง และผื่นสีน้ำตาลแดงนูนเล็กน้อย จะเริ่มขึ้นจากหลังหูแล้วลามไปทั่วตัวหลังมีไข้แล้ว 3-4 วัน จุดเด่นที่สังเกตได้อีกอย่างคือ หากมีจุดสีขาว ๆ เหลือง ๆ เล็กขนาดเม็ดงาที่กระพุ้งแก้มใกล้ฟันกรามล่าง (หรือถ้าเป็นมากก็จะมีอยู่เต็มกระพุ้งแก้ม) แสดงว่าเป็นโรคหัดอย่างแน่นอนครับ
หากเป็นหัดให้ดูแลเหมือนคนเป็นไข้หวัดคือ พักผ่อน รับประทานยาลดไข้ และเช็ดตัวเวลามีไข้สูง และยืนยันว่าไม่มีของแสลงครับ และไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ เพราะเป็นโรคจากเชื้อไวรัส ไม่ใช่แบคทีเรีย
เพื่อนสนิทอีกโรคของหัดคือ โรคหัดเยอรมัน ผื่นจากโรคนี้จะเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีชมพู แต่อาการอื่น ๆ จะไม่รุนแรงเหมือนโรคหัด และจุดสังเกตที่สำคัญคือ คลำพบก้อนที่หลังหูและท้ายทอย เนื่องจากต่อมน้ำเหลืองโต
โรคนี้เป็นโรคติดเชื้อที่ไม่รุนแรง เพียงรับประทานยาลดไข้ พักผ่อนอยู่กับบ้านสัก 4 วันหลังจากมีผื่นเพื่อไม่ให้ไปติดต่อคนอื่น และควรไปพบแพทย์ก็ต่อเมื่อปวดข้อรุนแรง มีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง หรือหากเป็นผู้หญิงตั้งครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรกควรพบแพทย์ทันที แต่ทางที่ดีหญิงสาวควรฉีดวัคซีนหัดเยอรมันอย่างน้อย 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ครับส่วนเด็ก ๆ เดี๋ยวนี้เขามีวัคซีนรวมกับวัคซีนโรคหัด ซึ่งแนะนำให้ฉีดตั้งแต่เด็กอายุ 9 เดือนครับ